อาชีพ นักพากย์ คือผู้ที่ใช้เสียงถ่ายทอดอารมณ์ เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสความรู้สึกผ่านเสียงนั้น ๆ จากภาพยนตร์การ์ตูน ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ หนังสั้น รายการโทรทัศน์ โฆษณา ละครวิทยุ ตลกวิทยุ วิดีโอเกม การแสดงหุ่นเชิด และเพื่อสาระบันเทิงอื่นๆ
ลักษณะงานของ นักพากย์
นักพากย์เสียง จะรับบทแสดงตัวละครด้วยการใช้เสียง การบันทึกเสียงต้นฉบับโดยผู้ที่ให้เสียงนั้น ต้องทำตนเปรียบเสมือนเป็นนักแสดงอยู่ด้วย เพื่อให้เสียงออกมาอย่างสมจริงและออกมาตามคาแรกเตอร์ ประเภทการพากย์เสียงแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
- การพากย์เสียงเป็นรูปแบบการทำเสียงพากย์ ซึ่งเป็นการอัดเสียงต้นฉบับโดยนักพากย์อาชีพ นักพากย์มือสมัครเล่น และนักแสดงอาชีพ ที่มีการอัดเสียงต้นฉบับไว้โดยยังไม่มีการทับเสียงพากย์ใหม่ นักพากย์ต้องทำตนเปรียบเสมือนเป็นนักแสดงอยู่ด้วยเช่นกัน มักจะใช้ในรายการสารคดี หรือบทบรรยายก่อนหน้าภาพยนตร์เริ่ม
- การพากย์เสียงทับหมายถึงการอัดเสียงทับใหม่ เป็นการอัดเสียงทับเสียงต้นฉบับเพื่อไปเป็นเสียงพากย์ในภาษาอื่น ซึ่งนักพากย์หรือนักแสดงมาอ่านบทแล้วเข้าห้องอัดเสียงเพื่อบันทึกเสียง ส่วนมากจะเป็น การ์ตูนอานิเมะ ซีรีส์ที่ฉายทางโทรทัศน์ ภาพยนตร์ต่างประเทศ คำว่า dub ในความหมายปัจจุบันคือการพากย์ทั่วไป Dubbing ก็ยังมีแบ่งไปอีกว่าจะเป็น Fan dub ที่แฟนๆ พากย์ใส่กันเองกับ Dub parody ชื่อพากย์นรกแบบไทยๆ ที่ชอบนำมาพากย์ตลกๆ ขำๆ แทนเนื้อเรื่องจริงเป็นต้น
ขั้นตอนการทำงาน
- เริ่มจากการอ่านบทพากย์หรือสคริปท์ ต้องฝึกอ่านสคริปท์ ควรฝึกอ่านออกเสียงโดยมีการเว้นวรรคตอนที่ถูกต้อง การออกเสียงสูงเสียงต่ำตามเนื้อหา รวมถึงการตีความบทพากย์หรือสคริปท์ โดยเน้นเสียงขึ้นลงในจุดที่ควรให้ความสำคัญ
- เตรียมร่างกายให้พร้อมและพักผ่อนเพียงพอ ไม่ง่วงนอน เทคนิคทางกาย ที่ควรฝึกทำบ่อยๆ ได้แก่ ฝึกหายใจเข้าให้ท้องป่อง หายใจออกให้ท้องแฟ่บ หายใจเข้าให้ลึกที่สุด หมั่นออกกำลังกาย พัฒนาปอด เตรียมใจให้พร้อม ควรจะไม่มีเรื่องที่รบกวนจิตใจ ควรปล่อยวางเรื่องที่กังวลใจอยู่ จะทำให้มีสมาธิ แล้วผลงานจะออกมาดี
- ตรวจสอบเครื่องมือให้พร้อมใช้งานในตอนที่ต้องพากย์เสียง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
- เริ่มการพากย์ สามารถอัดได้หลายเทค เพื่อเลือกเสียงที่เหมาะสมกับตัวละครมากที่สุด พร้อมทั้งแก้ไขส่วนที่พากย์ผิด พากย์ไม่ครบตอน
- จากนั้นนำไปเข้าโปรแกรมตัดต่อวิดีโอ สร้างสรรค์ผลงานต่อไป
สถานที่ทำงาน
- ห้องอัดเสียง ในสตูดิโอ
- สถานที่อัดเสียงที่ค่อนข้างมิดชิด ไม่มีเสียงรบกวน
ทำงานกับใครบ้าง
- วิศวกรเสียง sound engineer การควบคุมในกระบวนการบันทึกเสียง การเพิ่มคุณภาพเสียง มีหน้าที่ในการตัดต่อ ปรับแต่งเสียงโดยวิธีและเทคนิคต่างๆ เพื่อที่จะสามารถสื่อถึงความหมายหรือความต้องการที่นักพากย์เสียงต้องการสื่อออกมาให้ได้มากที่สุด มักจะใช้ในงานพากย์ใหญ่ๆ
- ทีมพากย์เสียง ในบางงานต้องมีนักพากย์หลายคน อัดพร้อมกัน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้ต่อเนื่อง
- ทีมตัดต่อ
- นักเขียนหรือนักแปล ที่เป็นผู้เรียบเรียงและเขียนให้บทให้แก่นักพากย์ถ่ายทอด จึงต้องสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกกันให้เข้าใจ เพื่อให้นักพายก์ถ่ายทอดเสียงออกมาได้ตามโจทย์ที่ต้องการ
ทางเลือกอาชีพ
- นักร้อง เนื่องจากนักพากย์มีน้ำเสียงดี และมีการฝึกควบคุมการใช้เสียง ทำให้นักพากย์บางคนสามารถร้องเพลงได้ดีด้วย
- นักแสดงหน้ากล้อง เพราะจะรู้จักการถ่ายทอดอารมณ์ การใช้เสียงต่างๆ
รายได้
รายได้เฉลี่ยต่อปี อยู่ประมาณ 1,500,000 – 2,500,000 บาท หากมีประสบการณ์ ก็จะทำเงินได้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการสร้างรายได้ 10,000 บาทภายใน 5 นาทีได้จริงๆ เหมือนการคิดค่าโฆษณาวินาทีละหลายแสน นักพากย์ก็สามารถทำเงินได้เป็นวินาที เป็นนาทีได้เช่นกัน หากประสบการณ์สูงมากพอ และมีจุดขายเสียงที่แปลกแตกต่างจากคนอื่น *ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักพากย์แต่ละคนและตัวเนื้อหาแต่ละประเภท
ข้อดีของอาชีพ
- เป็นงานที่สนุก เพราะเราได้ทำหลายอย่างทั้งการพากย์หนัง พากย์การตูน โดยเราจะต้องพากย์ตามเสียงของตัวละครเหมือนเป็นนักแสดง โดยในหนึ่งเรื่อง เราได้พากย์หลายตัวละครก็ได้เช่นกัน
- ไม่ซ้ำซากจำเจ มีเรื่องมีตอนใหม่ ๆ ให้เราพากย์เสมอ
- รายได้ดี หากชำนาญ และมีประสบการณ์เยอะ
- เป็นงานที่มีความอิสระสูง สามารถรับงานนอกได้หากไม่กระทบกับงานพากย์ประจำที่ตนเองสังกัด
- ไม่มีเกษียณอายุในการทำงาน สามารถทำงานได้ตลอดจนกว่าจะทำไม่ไหว
คุณสมบัติที่เหมาะสมกับอาชีพ
- มีน้ำเสียงดี สามารถใช้น้ำเสียงได้หลากหลาย เพราะนักพากย์ต้องใช้น้ำเสียงในการแสดงอารมณ์และสถานการณ์
- ขยัน ตั้งใจ นักพากย์เสียงที่ดี ต้องอาศัยการฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาเทคนิคในการพากย์
- มีความละเอียดรอบคอบ
- มี Sense รับรู้อารมณ์ของตัวละครหรือการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ
- ช่างสังเกต